ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
---|
มาตรา ๗๓๒ ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีก ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง
คำพิพากษาที่น่าสนใจ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555 แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาของลูกหนี้ที่ 1 ในคดีแพ่งซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ออกขายทอดตลาดแล้วแต่ผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งริบมัดจำจำนวน 47,651 บาท ของผู้ซื้อและจ่ายชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องแล้ว เงินมัดจำที่ถูกริบดังกล่าวย่อมเป็นเงินที่ได้จากการเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้จำนองนั้น ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 732 บัญญัติให้จัดใช้เงินจำนวนสุทธิดังกล่าวแก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับและถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีกก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนองต่อมาเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 เด็ดขาดและผู้คัดค้านโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำที่ดินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใหม่แล้วปรากฏว่าเงินสุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดใหม่รวมกับเงินมัดจำที่ริบดังกล่าวไม่เพียงพอชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้อง จึงไม่มีเงินเหลือที่จะให้ส่งมอบแก่ลูกหนี้ที่ 1 ผู้จำนองอีก การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งให้ผู้ร้องคืนเงินมัดจำดังกล่าวเพื่อนำเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ย่อมกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนองดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2538 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา289วรรคหนึ่งให้สิทธิแก่ผู้รับจำนองที่จะเลือกว่าให้นำทรัพย์สินจำนองออกขายโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นก็ได้แต่อย่างไรก็ตามหากผู้รับจำนองไม่ประสงค์จะใช้สิทธิบังคับจำนองก็อาจให้ขายทรัพย์นั้นโดยติดจำนองก็ได้เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิจำนองซึ่งผู้รับจำนองอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา287และในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์วรรคสองของมาตรา289ได้บัญญัติให้ผู้รับจำนองยื่นคำร้องเสียก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดทั้งนี้เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการไปได้โดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดจึงหาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่ เมื่อเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองแล้วก็จะต้องชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา732
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 897/2535 โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล โดยจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองให้โจทก์ เมื่อจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาแล้ว แม้ภายหลังโจทก์ขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นได้ราคาสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระ จำเลยจะขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินส่วนที่เกินจำนวนหนี้แก่จำเลยไม่ได้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ใช้บังคับเฉพาะกรณีขายทอดตลาดบังคับจำนอง ไม่ใช้บังคับกรณีทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2530 ในกรณีที่ทรัพย์มีการจำนองหลายรายนั้น เมื่อผู้รับจำนองรายแรกขอให้ศาลขายทอดตลาดโดยปลอด จำนอง ก็ต้องถือว่า เป็นการปลอด จำนองไปตลอดถึงรายหลัง ๆ ด้วย และผู้รับจำนองรายอื่นไม่มีสิทธิขอให้ศาลขายทอดตลาดโดยติดจำนองอันจะเป็นการขัดแย้งกับผู้รับจำนองรายแรกตามความมุ่งหมายที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา731,732 และ 744(5).
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 316/2504 ทรัพย์ที่จำนองไว้หลายรายได้ถูกยึดมาขายทอดตลาดในคดีแพ่งสามัญ เมื่อผู้รับจำนองในลำดับแรกเป็นผู้ซื้อได้ก็มีสิทธิหักหนี้จำนองของเขาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 732 ถึงแม้ผู้รับจำนองนั้นซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่ขอบังคับจำนองจะมิได้ขอยึดมาขายทอดตลาดในคดีของตนก็ตาม
|